Tech Trending

OpenStack และ Docker Container เป็นที่นิยมขึ้นทุกวัน

Published : March 13, 2018Time : 2 min read

Data center กับระบบ Virtual Machine หรือ VM เป็นสิ่งคู่กันมานานตั้งแต่อดีต ทว่าด้วยขนาดความใหญ่ของตัว VM และการกินเวลา Deploy นานกว่าจะพร้อมใช้งาน จึงเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า “Container Technology” ขึ้นมา โดยพื้นฐานก็มาจาก Linux นั่นเอง

จุดเด่นที่ Container มี แต่ Virtual Machine ไม่มี คือ ขนาดที่เล็กและการใช้เวลา Deploy ไม่นาน เพียงแค่ติดตั้ง OS หลักกับ Docker Engine เพื่อใช้ทำงานกับ Container Technology ก็สามารถ Deploy ได้ทันทีแล้ว จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่เจ้าเทคโนโลยีนี้จะได้รับความนิยม ฮอตฮิตเป็นเป้าความสนใจขึ้นมา

ข้อแตกต่างอีกอย่าง ก็คือ Container นั้นไม่ต้องติดตั้งทับลงบน Hypervisor แล้วติดตั้ง Guest OS ซ้ำซ้อนอีกชั้นเหมือนกับ Virtual Machine แต่แค่ตั้งค่า Bins/Libs ก็สามารถติดตั้ง Application ลงไปได้เลย ทำให้ Container ไม่กินพื้นที่การใช้งานภายใน Data Center มากเท่า VM ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามี Container ขนาด 1GB แล้วต้องการเพิ่มจำนวนเป็น 1,000 Container ก็จะไม่ใช่ 1GB x 1000 แบบ VM แต่เป็น 1 GB กับขนาดพื้นที่ที่เพิ่มเข้ามาอีกเล็กน้อย (อาจจะเป็นแค่ 1.5 – 2 GB)

Docker Container สามารถตอบโจทย์ของยุคนี้ที่ข้อมูลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ดี เพราะสามารถพัฒนาฟีเจอร์หรือเสริม Content ใหม่ ๆ ลงไปได้รวดเร็วมากกว่ากว่าการใช้ VM ไม่ต้องมีการหยุด Service แค่สร้าง Application ใหม่แล้วทดสอบใน Environment จำลองว่าสามารถใช้งานได้และไม่ก่อให้เกิด Bug ใดๆ ก็นำไป Deploy ใช้งานจริงได้เลยทันที จึงทำให้เสริมฟีเจอร์ใหม่ ๆ ได้เรื่อย ๆ โดยไม่กระทบกับระบบหลัก นอกจากนี้ ถ้าต้องการนำ Application ที่มีการพัฒนาอยู่แล้วมาใช้งาน ก็สามารถไปเช็คใน Github แล้วเอามาทดสอบได้อีกด้วย

องค์กรชั้นนำก็ย้ายมาใช้ Container Technology

ด้วยความสะดวกรวดเร็วเหนือชั้นกว่า VM ทั้งทำ Provision ได้รวดเร็ว และ Deploy ได้ไว ส่งผลให้การทำงานร่วมกับข้อมูลจำนวนมหาศาลลุล่วงได้ในระยะเวลาสั้น ๆ หลายบริษัทและองค์กรชั้นนำจึงให้ความสนใจหันมาใช้งาน Container Technology กันมากขึ้นเรื่อยๆ Intel เองก็เพิ่งย้ายระบบไปใช้งาน Container Technology เมื่อเร็ว ๆ นี้

Mr. Ken Proulx ประธานและ CEO ของ OpenRackReady เผยเรื่องที่ Intel ย้ายการใช้บริการจาก VMware มาเป็น OpenStack ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจไม่น้อย เพราะนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้วยังได้ประสิทธิภาพการทำงานที่เหนือชั้นกว่าเดิม คือ

  • ประหยัดค่า License ของ VMware และค่า Maintenance รวมมากถึง 21 ล้านเหรียญ (ราว 700 ล้านบาท)
  • Provision Server เร็วขึ้น จาก 90 วัน ลดลงเหลือ 30 นาทีเท่านั้น
  • ลดปริมาณ Server Ticket ลงไป 90%
  • ทำ Agile, DevOps, Continuous Integration/Continuous Deployment (CI/CD) ได้
  • ลดเวลาทำ Time-to-Market ของ Application ต่าง ๆ ลงไปมาก
  • ทำ Self-Service Automation เพื่อสร้าง Server, Storage, Network ได้
  • ลดเวลารอใช้ IT Infrastructure ของ Developer 90%

จากกรณีของ Intel เราจะเห็นว่าเทคโนโลยี Container ที่แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับ Developer อยู่บ้างและต้องใช้เวลาในการศึกษา แต่ก็ส่งผลดีต่อธุรกิจอย่างคุ้มค่าที่จะเรียนรู้ไม่น้อยเลยทีเดียว

AUTHOR
Author
NIPA Cloud
Writer

We—as a team of Thai people—are assured that Thai cloud is the absolute answer for driving your business in the digital era.