Tech Trending

ตลาด AI ทะยานสู่ 1.5 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2573 โดย Open Source มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน (by Mark Collier)

Published : July 13, 2023Time : 5 min read

เป็นประจำทุกปีที่งาน OpenInfra Summit จะมีเซกชันเวทีกลางที่เปิดพื้นที่ให้สมาชิกคอมมิวนิตี้ได้ขึ้นมาบรรยายเรื่องสำคัญหรือเทรนด์ในวงการที่เรียกว่า ‘keynote’ ในปีนี้ OpenInfra Summit Vancouver 2023 ซึ่งจัดขึ้น ณ Vancouver Convention Centre เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ในวันที่ 13-15 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการขึ้นบรรยายของบุคคลหรือองค์กรที่สำคัญมากมาย โดยเซกชันนี้ใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมง!

ในเซกชันดังกล่าว คีย์โน้ตพาร์ตสำคัญที่ทุกคนในคอมมิวนิตี้รอคอยก็คงหนีไม่พ้นพาร์ตของ Chief Operating Officer คนสำคัญของ Open Infrastructure Foundation อย่าง Mark Collier ที่มักจะนำเทรนด์ที่เป็นที่พูดถึงในวงการ ตลอดจนแนวโน้มของเทคโนโลยี open source ในอนาคต มาบรรยายให้ฟังอย่างน่าสนใจ อย่างในงาน OpenInfra Summit Berlin 2022 ครั้งก่อนหน้า คอลลิเออร์ได้พูดถึงแนวโน้มตลาดคลาวด์ของโลกในช่วงเวลาดังกล่าวว่าคลาวด์ที่พัฒนาจากเทคโนโลยี open source นั้นมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับสองรองจาก Amazon Web Services (AWS) ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็น 27% ของตลาดคลาวด์ขนาด 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่องแนวโน้มและสถิติตลาดคลาวด์โลก พร้อมกลยุทธ์การเติบโตในอุตสาหกรรมขนาดแสนล้านเหรียญ โดย Mark Collier

ในปีนี้เอง แม้ว่าการ integration ระหว่าง OpenStack และ Kubernetes นั้นจะเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในงาน OpenInfra Summit Vancouver 2023 แต่ในเทรนด์โลก หัวข้อที่ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมาก และหลายธุรกิจเริ่มปรับตัวแล้ว นั่นคือ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ (artificial intelligence: AI)

แนวโน้มเทคโนโลยี AI ต่อธุรกิจในอนาคตอันใกล้จะเป็นยังไง? AI เกี่ยวข้องส่วนไหนกับเทคโนโลยี open source? และบทบาทสำคัญในฐานะคอมมิวนิตี้คืออะไร? คอลลิเออร์ได้แสดงความคิดเห็นผ่านมุมมองของ COO และ NIPA Cloud ได้นำมาเล่าให้ทุกคนฟังในบทความนี้แล้ว

มาร์ก คอลลิเออร์ เปิดประเด็นมาด้วยวิธีที่เขาคุ้นเคย นั่นคือ การแสดงตัวเลขจำนวนมหาศาลเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง ครั้งนี้ คอลลิเออร์นำเสนอตัวเลข 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 52 ล้านล้านบาทไทย โดยให้ข้อมูลว่าเป็นตัวเลขคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 หรือปี 2573 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า ตลาด AI จะมีมูลค่าพุ่งเป้าไปถึงจำนวนนี้ แสดงให้เห็นว่าตลาดดังกล่าวจะทรงอิทธิพลต่อโลกอนาคตระดับมากถึงมากที่สุด

แล้วประเด็น AI เกี่ยวข้องยังไงกับคอมมิวนิตี้ open source? คอลลิเออร์ชี้แจงว่าการบรรยายครั้งนี้ เขาจะพูดคุยเกี่ยวกับ AI อีกมุมมองที่แตกต่างออกไป ข้อแรก คือ การดูที่ผลกระทบของ open source ที่มีต่อ AI และมันพัฒนายังไง และการเปลี่ยนแปลงของอิทธิพลในตลาดโลก จากนั้นจะพูดคุยว่า AI มีอิทธิพล ผลกระทบ การพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็น open source ว่ามีลักษณะเป็นยังไงบ้าง

ในสไลด์หน้าถัดมา คอลลิเออร์กล่าวอ้างถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทุกคนรู้ดีว่ามีบทบาทในด้าน AI เป็นอย่างมาก นั่นคือ Google ว่า มีบทความหัวข้อหนึ่งหลุดมาถึงสื่อ คือ “We Have No Moat, And Neither Does OpenAI” หรือแปลเป็นไทยว่า “เราไม่มีป้อมปราการ และ OpenAI ก็ไม่มีเช่นกัน” เขาอธิบายเสริมว่า ‘moat’ หรือป้อมปราการ หมายถึง คูน้ำที่ใช้ล้อมรอบปราสาทโบราณ ใช้กันข้าศึกบุกรุก โดยในบริบทนี้หมายถึง การแข่งขัน ผู้คนที่พยายามเข้ามา ลูกค้า และการแย่งชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน

คอลลิเออร์ได้ยกโควตหนึ่งขึ้นว่า กล่าวว่า “While we’ve been squabbling, a third faction has been quietly eating our lunch. - I’m talking, of course, about open source.” (ในขณะที่เราโต้เถียงกัน บุคคลที่สามก็กำลังกินอาหารกลางวันของเราอย่างเงียบ ๆ แน่นอนว่าผมกำลังพูดถึง open source) โดย ‘เรา’ ในที่นี้สื่อถึง Google และ Open AI และ ‘บุคคลที่สาม’ นั้นก็หมายถึงคอมมิวนิตี้ open source หมายความว่า หากแนวโน้มของตลาดกำลังไปในทิศทางที่กำลังพูดถึง open source ก็จะมีส่วนใน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่เขาได้กล่าวไว้ข้างต้น

“โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่ามันสนุกมากที่ได้ระบายน้ำจากคูด้วยคอมมิวนิตี้ open source ดังนั้น ผมจึงทำเพื่อสิ่งนี้ และผมคิดว่าเงินจำนวน 1.5 ล้านล้านเหรียญนั้นก็ซื้ออาหารกลางวันได้หลายมื้อ ผมคิดว่าเราทุกคนจะกินดีอยู่ดีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหากแนวโน้มนี้ยังคงอยู่” มาร์ก คอลลิเออร์

เมื่อวิเคราะห์ให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น คอลลิเออร์นำเสนอโควตอีกหนึ่งโควตและชาร์ตแท่งที่แสดงข้อมูลจำนวนค่าใช้จ่าย (ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อจำนวนพารามิเตอร์ขององค์กรที่พัฒนา AI 5 องค์กร โดยสามองค์กรแรก ได้แก่ LLaMA, Alpaca และ Vicuna เป็น open source ส่วน Bard คือ AI ของ Google และ ChatGPT เป็นของ Open AI ซึ่งโควตได้กล่าวว่า “They are doing things with $100 and 13B params that we struggle with at $10M and 540B .” (พวกเขากำลังทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยเงิน 100 เหรียญ และ 13 พันล้านพารามิเตอร์ ขณะที่เราต้องดิ้นรน (ที่จะทำ) ด้วยเงิน 10 ล้านเหรียญ และ 540 พันล้านพารามิเตอร์)

โควตและชาร์ตแท่งนี้ได้โต้มายาคติที่ทั่วโลกเชื่อว่ามีเพียงบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงสามสี่บริษัทที่เข้าถึงเทคโนโลยีทรงพลังเช่นนี้ ได้แก่ Google, Meta และ Open AI กล่าวคือ คอมมิวนิตี้ open source สามารถพัฒนาพารามิเตอร์ใน AI ด้วยงบประมาณที่ถูกกว่าเป็นอย่างมาก ซึ่งเหตุการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นในสามเดือนที่ผ่านมาเท่านั้นเอง

“We have no secret sauce” (พวกเราไม่มีเคล็ดลับ)

คอลลิเออร์กล่าวเสริมอย่างมั่นใจ พร้อมยืนยันว่าเทคโนโลยี open source มีบทบาทสำคัญต่อ AI อย่างแน่นอนในอนาคต

ถัดมา คอลลิเออร์ยกตัวอย่างกรณีของคอมมิวนิตี้ไพทอน (Python) ที่มีการเขียนโค้ดและรีวิวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนนำ AI มาช่วยเหลือในส่วนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาเกิดขึ้นหรือมีคำถามเกี่ยวกับโค้ดส่วนนั้น ๆ contributor ก็จะไม่สามารถตอบคำถามได้ เนื่องจากไม่ใช่ผู้ที่เขียนโค้ดดังกล่าวร้อยเปอร์เซ็นต์ คอลลิเออร์แสดงให้เห็นว่าแม้การนำ AI เข้ามาช่วยเหลือจะสร้างโอกาส แต่ก็ยังมีปัญหาที่ควรหาทางออกต่อไปในอนาคตเช่นเดียวกัน

เมื่อมีโอกาสก็ย่อมมีความกลัว และเมื่อมีความกลัว ผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลก็ย่อมเข้ามาจัดการความเรียบร้อย คอลลิเออร์ยกตัวอย่างสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของเทคโนโลยี AI ตัวอย่างเช่น กรณีอิตาลีแบนและปลดแบน ChatGPT หรือสหภาพยุโรปกำลังคิดที่จะออกกฎและข้อบังคับต่าง ๆ เขาตั้งข้อสังเกตว่าประชาคมโลกยังไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือ AI จริง ๆ ว่าหากสัมผัสกับเทคโนโลยีนี้ในอนาคต ทิศทางของโลกจะเดินไปที่ไหน

แต่ถึงแม้คำตอบของคำถามนี้จะยังเป็น “ไม่รู้” สุดท้ายแล้ว มนุษย์จะต้องอยู่เหนือมันให้ได้ คำถามที่ต้องพิจารณาต่อก็คือ อะไรคือแรงจูงใจระหว่างองค์กรและ open source ที่จะทำให้ก้าวไปข้างหน้า — คำตอบจะไม่ใช่แค่ธุรกิจเหมือนปกติแล้ว, เราเตรียมอะไรสำหรับโลกที่มีโค้ดและการพัฒนาแบบไร้มนุษย์ — ในอนาคต โค้ดจะถูกเขียนโดยเครื่องจักรมากกว่ามนุษย์ ดังนั้น คำตอบจะมาในหลายวิธี ซึ่งอยู่ตรงหน้าพวกเราแล้ว

“How will we accept AI as a member of our communities?” (เราจะยอมรับ AI เป็นสมาชิกคอมมิวนิตี้ได้ยังไง?)

ในสไลด์ที่แสดงรูปหุ่นยนต์กระป๋องชื่อดังหน้าตาน่ารักอย่าง WALL-E นี้ คอลลิเออร์ได้จุดประเด็นที่ใหญ่ที่สุดที่ควรพูดถึงกันต่อ นั่นคือ หากในอนาคต งานของมนุษย์และงานของ AI ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แล้วเราจะยอมรับให้ AI เป็นสมาชิกของคอมมิวนิตี้ได้หรือไม่ เขาเสริมว่า คอนเซปต์การทำงานของมนุษย์และ AI ในอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเกื้อหนุนกันอย่างไม่สามารถแยกได้ ไอเดียต่าง ๆ จะถูกเขียน ส่ง ผสมผสาน และรวบรวมเข้าด้วยกันให้ดียิ่งขึ้น เส้นแบ่งระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรเริ่มพร่ามัว จนสุดท้าย งานอย่างการเขียนโค้ดจะจำเป็นต้องพึ่งพาอิทธิพลของ AI อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในสไลด์สุดท้าย คอลลิเออร์สรุปไว้อย่างแยบยลว่า แม้เทคโนโลยี AI ยังผุดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมาให้เราปวดหัว แต่สุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “โอกาส” ของคอมมิวนิตี้ OpenInfra ในมูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งจะดึงดูดให้ผู้คนหันมาสนใจคอมมิวนิตี้มากขึ้น และเมื่อมีผู้สนใจมากขึ้น ปัญหาที่ยังค้างคาก็จะมีผู้ช่วยสะสางเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ก็จะยิ่งมีผู้เข้ามาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อคอมมิวนิตี้และเพื่อสังคมโลกในที่สุด ซึ่งเป็นแสงสว่างของเทคโนโลยี open source ในอนาคตที่เรากำลังเดินตามอย่างมีความหวัง

NIPA Cloud ในฐานะสมาชิกคอมมิวนิตี้ระดับ Gold Member เห็นด้วยกับประเด็นที่ได้นำเสนอไปข้างต้น และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าอนาคตของวงการเทคโนโลยีโลก รวมถึงประเทศไทย จะเปิดกว้างให้กับ open source เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะมีบทบาทในอนาคต และในฐานะคลาวด์ไทย เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าธุรกิจไทยจะเปิดโอกาสให้คลาวด์ที่พัฒนาโดยคนไทย เป็นคลาวด์ที่ทุกคนไว้วางใจและสนับสนุนอย่างเต็มที่ และเราก็จะไม่หยุดพัฒนาโปรดักต์และบริการให้มีประสิทธิภาพสูงในราคาย่อมเยา เพื่อให้บริการคนไทยให้เกิดความประทับใจมากที่สุดเช่นกัน

AUTHOR
Author
Sorawit Pakdeeasa
Content Writer

A passive(-aggressive) learner & a ramyeon lover