Tech Knowledge

Digital Sovereignty EP1: What is Digital Sovereignty? Why is Europe Willing to Regain It?

Published : May 17, 2023Time : 5 min read

Digital Sovereignty เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมาไม่นานและเป็นคำที่คนทั่วไปยังไม่คุ้นเคยมากนัก เริ่มมีการพูดถึงอย่างมากในทวีปยุโรป สาเหตุเกิดจากยุโรปเผชิญกับปัญหาอธิปไตยทางดิจิทัล (digital sovereignty) ที่ปล่อยให้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างสหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้กำหนดกฎกติกาของภาคส่วนดิจิทัลกว่า 20 ปี การที่สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทนี้อาจเป็นเพราะกฎดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้ในสหภาพยุโรป เพราะเป็นการรุกคืบผ่านอินเทอร์เน็ตและดิจิทัล หรืออาจเป็นเพราะกฎของเกมถูกกำหนดโดยรหัสทางดิจิทัลที่เรียกว่า “code” จึงทำให้ผู้ที่มี code ที่แข็งแกร่งกว่ากลายเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ

สงครามทางการค้า (trade war) ระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2018 ไม่เพียงแต่สร้างความตึงเครียดแก่สองประเทศนี้เท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงยุโรป และแน่นอนว่าประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบต่อภาคการส่งออกเช่นกัน นอกจากนี้ ยังทำให้ทั่วโลกเกิดแนวโน้มการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ หรือ deglobalization ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ตรงข้ามกับโลกาภิวัตน์ (globalization) อย่างสิ้นเชิงในทางเศรษฐศาสตร์ คำว่า “โลกาภิวัตน์” ใช้อธิบายสถานการณ์เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในโลก ทั้งทางการค้า การลงทุน การเงินระหว่างประเทศ การเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต การขนส่ง และโลจิสติกส์เกิดการขยายตัว แต่เมื่อเกิดกระแสทวนโลกาภิวัตน์ขึ้น หลังจากที่ Donald Trump อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้แสดงทัศนะและประกาศการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เน้นการกีดกันทางการค้า (trade protection policy) ด้วยสโลแกน “Buy American and Hire American”

สงครามทางการค้านี้ไม่เพียงส่งผลต่อการนำเข้าและส่งออกของสินค้าเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดสงครามทางด้านเทคโนโลยี (technology war) ในเวลาต่อมา เพราะเมื่อสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า การส่งออกสินค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจก็ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างไมโครโพรเซสเซอร์ที่มีส่วนสำคัญต่อประสิทธิภาพการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ซึ่งสหรัฐฯ ได้คว่ำบาตรประเทศจีนด้วยการไม่ส่งออกโพรเซสเซอร์คุณภาพดีไปยังแดนมังกร อย่างไรก็ตาม จีนก็ยังสามารถตอบโต้โดยการผลิตโพรเซสเซอร์ขึ้นมาใช้งานเอง และสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล (digital infrastructure) ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งประเทศมหาอำนาจอีกประเทศ

แต่นั่นเป็นผลกระทบและสถานการณ์ของผู้ที่เป็นผู้นำทางเทคโนโลยี หากมองในมุมของกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่างยุโรป จะพบว่า สงครามทางการค้าส่งผลกระทบที่แตกต่างอย่างมากในยุโรป เนื่องจากการปล่อยให้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่างสหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทกว่า 20 ปี โดยปราศจากการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง รวมถึงกระแส deglobalization ที่ทำให้ยุโรปเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัยกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และต้องการมีอำนาจควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้เองทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาให้ทัดเทียมกับสหรัฐอเมริกาและจีนได้ ต้องใช้ระยะเวลาหลายปี การรับเทคโนโลยีเข้ามาเริ่มก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) และในมุมของการไม่มีความสามารถในการควบคุมเทคโนโลยีเองทั้งหมด ซึ่งยุโรปถือเป็นผู้นำในเรื่องของการพยายามกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการใช้งานโลกอินเทอร์เน็ต

บทความซีรีส์นี้ได้รวบรวมหลักฐานจากเหตุการณ์ต่าง ๆ มาวิเคราะห์แนวคิดความต้องการมีอธิปไตยดิจิทัล (digital sovereignty) ว่ากลุ่มสหภาพยุโรปมองเห็นความสำคัญต่อแนวคิดนี้อย่างไร ทำไมคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) พูดถึงและให้ความสนใจอย่างมาก มีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างในสถานการณ์ปัจจุบัน ในมุมของประเทศไทยปัจจุบัน digital sovereignty เหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ ในมุมของกฎหมาย เรามีการพัฒนาไปถึงขั้นไหน และสุดท้าย เราควรตระหนักรู้เรื่องนี้มาก-น้อยแค่ไหน โดยหวังว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์และให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการมี digital sovereignty

ก่อนจะกล่าวถึงประเด็นหลักนั้น เราควรทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “digital sovereignty” กันเสียก่อน

คำนิยามของ Digital Sovereignty

Digital sovereignty หากแปลเป็นภาษาไทยจะตรงกับคำว่า “อธิปไตยดิจิทัล” ซึ่งหมายถึงความสามารถในการควบคุมการใช้เทคโนโลยีและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (computer network) ในปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าจะเป็น สภาพแวดล้อมทางดิจิทัลของบริษัท ข้อมูลลูกค้าและพนักงาน ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ Pierre Bellanger ผู้เขียนบทความ “La Souveraineté Numérique” (Digital Sovereignty) ได้ให้คำจำกัดความภาษาอังกฤษไว้ว่า

“Digital sovereignty is the control of our present and destiny as manifested and guided by the use of technology and computer networks."*

*Kergaravat, C. (2022, November 25). Everything You Need to Know About Digital Sovereignty. Blog.

Digital sovereignty ถือเป็นส่วนสำคัญของทุกประเทศที่มีการใช้งานดิจิทัลในทุกมิติ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความสามารถในการใช้และออกแบบระบบดิจิทัลภายในประเทศ ความสามารถในการจัดการข้อมูลด้วยตัวเอง อภิสิทธิ์เหนือข้อมูลที่รวบรวมและจัดเก็บ ตลอดจนกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ

จุดเริ่มต้นของ Digital Sovereignty

รูปที่ 1 : Technology War ระหว่างสหรัฐฯ และจีน

เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว หรือประมาณปลายปี ค.ศ. 2019 digital sovereignty ได้รับการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกขณะที่ Ursula von der Leyen ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยุโรปได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า หรืออีกนัยหนึ่งคือสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยเจตนาของสหภาพยุโรป ณ ขณะนั้น คือ การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical) และต้องการกำหนดกฎเกณฑ์ข้อบังคับร่วมกัน เพื่อให้ยุโรปมี digital sovereignty เป็นของตัวเอง

คำว่า digital sovereignty ในแบบฉบับของยุโรปมีรูปแบบที่แตกต่างจากประเทศที่ปกครองโดยระบอบ เผด็จการ เช่น จีน รัสเซีย เนื่องจากประเทศเหล่านั้นจะพยายามใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มการควบคุมระบอบการปกครอง เฝ้าดู และกำจัดกลุ่มฝ่ายค้าน แต่ยุโรปไม่ได้ให้สิทธิพิเศษแก่รัฐบาลในการเข้าถึงเทคโนโลยี ข้อมูล และไม่ได้เสริมอำนาจการควบคุมของระบอบการปกครองนอกเหนือเศรษฐกิจดิจิทัล แต่มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบุคคลและบริษัทในสหภาพยุโรป

รูปที่ 2 : Distribution of top 100 Digital Platforms by Market Capitalization, 2021

จาก www.atlanticcouncil.org/wp-content/uploads/2022/11/ Digital-sovereignty-in-practice-The-EUs-push-to-shape-the-new-global-economy_.pdf

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ยุโรปตระหนักถึงความสำคัญของ digital sovereignty คือ ยุโรปกำลังเสียเปรียบในการแข่งขัน ขณะที่สหภาพยุโรปมีบริษัทโทรคมนาคมระดับชาติที่เข้มแข็ง และมีบริษัทซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์รายใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง ตัวอย่างเช่น SAP, Nokia, Spotify, Booking.com, Ericsson แต่ไม่มีบริษัทใดในสหภาพยุโรปที่อยู่ในกลุ่ม Amazon, Microsoft, Facebook (ปัจจุบันคือ Meta), Apple หรือ Google เลย

ในปี ค.ศ. 2021 แพลตฟอร์มในสหภาพยุโรปก็มีบริษัทเพียงสิบแห่งใน 100 อันดับแรกของโลก และคิดเป็นเพียงร้อยละ 3 ของมูลค่าทั้งหมด ตามรายงาน Digital Compass ของคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า “เทคโนโลยีดิจิทัลส่วนใหญ่ถูกพัฒนานอกสหภาพยุโรป” โดย 90% ของข้อมูลในสหภาพยุโรปถูกจัดการโดยบริษัทในสหรัฐอเมริกา และไมโครชิปที่ผลิตโดยสหภาพยุโรปคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของตลาดยุโรป*

*Burwell, F & Propp K. (2022). _Digital sovereignty in practice: The EU’s push to shape the new global economy_. Atlantic Council.

รูปที่ 3 : Edward Snowden

จาก www.bangkokpost.com/world/2401250/putin-grants-edward-snowden-russian-citizenship

รูปที่ 4 : National Security Agency (NSA)

ในปี ค.ศ. 2013 Edward Snowden อดีตนักวิเคราะห์ระบบข่าวกรองชาวอเมริกัน ผู้ค้นพบการสอดแนมของรัฐบาลอเมริกาผ่านหน่วยงาน National Security Agency (NSA) เปิดเผยหลักฐานให้ทั่วโลกทราบถึงการสอดแนมพลเมืองอเมริกา รวมถึงผู้นำทั่วโลกการเปิดเผยข้อมูลนี้ได้สร้างคลื่นที่สั่นสะเทือนทั่วโลก ทำให้เกิดการต่อต้านอันรุนแรงในหลายประเทศ โดยเฉพาะเยอรมนี

การที่สหภาพยุโรปรับรู้ถึงความอ่อนแอของตัวเอง ทำให้เกิดการถกเถียงเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความต้องการ “อิสรภาพทางยุทธศาสตร์” รวมถึงการป้องกันภาคส่วนเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น การป้องกันทางไซเบอร์ โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ยืดหยุ่น และฐานอุตสาหกรรมดิจิทัลที่แข็งแกร่ง

การพึ่งพาบริษัทและเทคโนโลยีจากยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือจีน ทำให้อาจถูกชักจูงทางการเมืองมากกว่าทางพาณิชย์ พบได้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุโรป อาทิ การรณรงค์ของสหรัฐฯ เพื่อเกลี้ยกล่อมให้รัฐบาลยุโรปถอดส่วนประกอบของ Huawei ออกจากโครงสร้างพื้นฐานรุ่นที่ 5 (5G) ของพวกเขา ซึ่งสอดคล้องกับที่ยุโรปยอมรับจีนว่าเป็น “คู่แข่งเชิงระบบ”

สหภาพยุโรปมองเห็นถึงความไม่แน่นอนหากยังพึ่งพิงเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาและจีน แต่การจะสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาให้เทียบเท่ากับสหรัฐฯ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และการรับเทคโนโลยีเข้ามาก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่หากพึ่งพิงมากเกินไปก็อาจจะส่งผลต่อความไม่มั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ ยุโรปก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลที่นำไปเก็บที่สหรัฐอเมริกาจะไม่ถูกเปิดเผยภายนอกอาณาเขตยุโรป เนื่องจากทางการสหรัฐฯ เองก็มีกฎเกณฑ์ในการขอเข้าถึงข้อมูลจากผู้ให้บริการคลาวด์ในประเทศ อาทิเช่น Clarifying Lawful Overseas Use of Data Act หรือ Cloud Act เป็นต้น

ในบทความนี้ เราได้เริ่มต้นจากเหตุการณ์ที่ทำให้ยุโรปที่เป็นเหมือนผู้นำในการตระหนักถึงเรื่องของ digital sovereignty โดยเริ่มมาจากการเหตุการณ์ trade war ส่งผลกระทบต่อไปยังการเกิด technology war และยุโรปในฐานะกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ผู้นำทางเทคโนโลยีมีความกังวลต่อเรื่องนี้อย่างไร พร้อมทั้งยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่สร้างคลื่นสั่นสะเทือนทั่วโลก และทำให้เกิดการต่อต้านอันรุนแรงในหลายประเทศ โดยเฉพาะเยอรมนี อย่างกรณีของการสอดแนมจากองค์กรอดีตนักวิเคราะห์ระบบข่าวกรอง (NSA) ชาวอเมริกัน

ในบทความตอนต่อไป เราจะชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์กฎหมายทั่วโลก ทั้งในประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน และประเทศที่เป็นผู้นำในการออกกฎหมายอย่างยุโรป จากนั้นจะปิดท้ายด้วยมุมของไทยว่ากฎหมายในประเทศเป็นอย่างไร และกฎเกณฑ์ที่ออกมาเพื่อป้องกันเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลและการออกกฎหมายเหล่านี้ส่งเสริมให้มี digital sovereignty อย่างตรงจุดหรือไม่

อ้างอิง

Burwell, F.G. & Propp, K. (2022). Digital sovereignty in practice: The EU’s push to shape the new global economy. Atlantic Council. www.atlanticcouncil.org/wp-content/uploads/2022/11/Digital-sovereignty-in-practice-The-EUs-push-to-shape-the-new-global-economy_.pdf

Kergaravat, C. (2022, November 25). Everything You Need to Know About Digital Sovereignty. Blog. www.apizee.com/digital-sovereignty

AUTHOR
Author
Chaow Charoensomsamai
Growth and Strategy Associate

I'm interested in learning new things, especially business and investment.