ทำความรู้จัก ‘ChatGPT’ แชตบอต AI อัจฉริยะ ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ
ในงานเขียนหนึ่งงาน ไม่ใช่แค่นึกเรื่องอะไรออกก็สามารถลงมือเขียนได้ทันที (แต่ก็อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกันหากนักเขียนคนนั้นเป็นคนที่มีความรู้และอยู่ในแวดวงนั้น ๆ มาเป็นระยะเวลานาน) ถ้าคุณเป็นนักเขียนมือใหม่ที่จำเป็นต้องหาข้อมูลและเรียบเรียงเนื้อหาใดเนื้อหาหนึ่งด้วยตัวเอง คุณก็อาจจะต้องมีความรู้ด้านการเขียนมาบ้าง หรือไม่ก็ต้องใช้เครื่องมือช่วยในการเขียนและหาข้อมูล
ซึ่งในปัจจุบันก็มีผู้พัฒนาเครื่องมือหรือโปรแกรมที่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
รู้จัก ChatGPT
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 CNN ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับแชตบอตอัจฉริยะที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาพัฒนาจนเกิดเป็นเทคโนโลยีสุดล้ำที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถถามคำถาม หาข้อมูล ตลอดจนสั่งให้เขียนงานเขียนได้หลายย่อหน้า! เทคโนโลยีดังกล่าวมีชื่อว่า ‘ChatGPT’ พัฒนาโดย OpenAI ผู้อยู่เบื้องหลัง DALL-E เทคโนโลยีนี้เป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่มีการใส่ข้อมูลแบบ big data จำนวนมหาศาล แล้วให้ระบบประมวลผลเป็นคำตอบที่ผู้ใช้งานถามเข้ามา CNN รายงานว่าเจ้า ChatGPT ตัวนี้สามารถตอบคำถามได้ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน เช่น “ประเทศไทยมีกี่จังหวัด?” เรื่อยไปจนถึงคำถามที่เป็นนามธรรม เช่น “ชีวิตหลังความตายคืออะไร?” หรือจะเป็นคำถามอย่าง “วันนี้ใส่เสื้อสีอะไร?” เจ้าแชตบอตแสนฉลาดนี้ก็ตอบได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ChatGPT นี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากข้อมูลที่ต้องใช้นั้นมีมหาศาล ณ ปัจจุบัน (มกราคม 2566) ข้อมูลที่แชตบอตอัปเดตล่าสุดจึงเป็นข้อมูลถึงแค่ของปี 2564 และด้วยทีมนักพัฒนาเป็นชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ข้อมูลที่ตอบกลับมาจึงเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อมูลภาษาไทยเสียทีเดียว เพราะหากให้ตอบกลับเป็นภาษาไทย ChatGPT ก็ทำได้เช่นกัน แต่อาจจะยังให้ข้อมูลได้ไม่แม่นยำเท่าภาษาอังกฤษนัก คงต้องอดใจรอทีมนักพัฒนากันอีกสักระยะไปก่อน แต่เชื่อว่าในอนาคต เจ้าแชตบอตตัวนี้จะสามารถประมวลผลและตอบคำถามได้ทุกภาษาอย่างแน่นอน
ChatGPT ใช้งานยังไง?
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คุณอาจจะสงสัยและอยากทดลองใช้งานเจ้าแชตบอตสุดฉลาดตัวนี้ดูว่าจะเป็นอย่างที่พูดจริงหรือไม่ คุณสามารถเข้าไปทดลองถามคำถามได้ที่เว็บไซต์ https://openai.com/blog/chatgpt ก่อนที่จะเข้าสู่หน้าถาม-ตอบ ให้คุณล็อกอินหรือสมัครเข้าใช้บริการก่อน หลังจากเสร็จกระบวนการดังกล่าวแล้ว คุณอยากรู้อะไรก็พิมพ์คำถามลงในกล่องแชตได้ทันที นอกจากนี้ ระบบยังบันทึกคำถามที่เคยถามไว้ที่แถบฝั่งขวาของหน้าจออีกด้วย เรียกได้ว่าหากเคยถามคำถามนี้ไปแล้วก็ไม่ต้องพิมพ์ถามใหม่ให้เสียเวลา สะดวก รวดเร็ว และได้ข้อมูลแน่น จบในที่เดียว
การนำไปใช้งานจริง
ปัจจุบัน ChatGPT เป็นที่พูดถึงในโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง โดยได้มีการพูดถึงการใช้งานที่เหมาะอย่างยิ่งกับการค้นหาและเรียบเรียงข้อมูล CNN รายงานว่ามีผู้ใช้งานรายหนึ่งสั่งให้แชตบอตเขียนเพลงดังในยุค 90s ‘Baby Got Back’ ในรูปแบบ ‘ตำนานแคนเตอร์บรี’ (The Canterbury Tales) อีกรายหนึ่งให้ ChatGPT เขียนจดหมายลบบัญชีไม่ดี (bad account) ออกจากรีพอร์ตเครดิต และอีกรายหนึ่งขอเคล็ดลับการแต่งบ้านสไตล์เทพนิยายและถามคำถาม AP English ซึ่งเจ้าแชตบอตก็ตอบกลับมาด้วยความเรียงขนาด 5 ย่อหน้า
ยิ่งไปกว่านั้น วันที่ 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา CNN ก็รายงานข่าวเกี่ยวกับเจ้าแชตบอตนี้อีกครั้ง โดยเล่ากรณีใช้งานของ Jeff Maggioncalda ผู้บริหารแพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์ Coursera ว่าเขาใช้ ChatGPT ร่างจดหมายจนกลายมาเป็นตัวช่วยด้านการเขียน (writing assistant) ในชีวิตประจำวันไปเรียบร้อยแล้ว แม้ช่วงแรกจะมีติดขัดบ้างก็ตาม และในสัปดาห์เดียวกันนี้ เขาได้เดินทางไปเข้าประชุม World Economic Forum ณ เมืองดาโวส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีผู้นำทางธุรกิจ นักการเมือง และนักวิชาการหลายพันคนเข้าร่วม วาระการประชุมนั้นพูดถึงประเด็นเร่งด่วนที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่วิกฤตด้านพลังงาน ไปจนถึงสงครามยูเครน แต่สิ่งที่ทุกคนไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แสนอัจฉริยะ—ChatGPT นอกจากนี้ Christian Lanng ผู้บริหาร Tradeshift แพลตฟอร์มซัพพลายเชนแบบดิจิทัล ก็รู้สึกทึ่งกับความสามารถของเทคโนโลยีตัวนี้เช่นเดียวกัน และยังใช้ร่างจดหมายภายในองค์กรซึ่งไม่มีความแตกต่างกับจดหมายที่ร่างโดยพนักงานเลย
ข้อจำกัดที่ยังรอการพัฒนาต่อ
อย่างไรก็ตาม ChatGPT ยังเป็นเพียงโมเดลที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาต่อเพิ่มเติม นอกจากเรื่องข้อมูลที่อัปเดตถึงแค่ปี 2564 และสมบูรณ์แบบเฉพาะภาษาอังกฤษนั้น ปัจจุบันมีข้อจำกัดอยู่หลายประการที่ยังต้องการการพัฒนาต่อ ได้แก่
การตอบคำถามที่อาจจะฟังดูน่าเชื่อถือ แต่ยังไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องเสียทั้งหมด ทั้งนี้ เนื่องจากการตอบคำถามเป็นการประมวลจากข้อมูลที่ใส่ลงไป ซึ่งเป็นการรวบรวมมาจากหลากหลายแหล่ง ทำให้การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลนั้นยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับทีมนักพัฒนาอยู่
การตอบคำถามนั้นขึ้นอยู่กับประโยคหรือวลีที่ผู้ใช้งานถาม กล่าวคือ หากถามคำถามด้วยประโยคหนึ่ง แชตบอตอาจตอบว่า “ไม่รู้” แต่หากปรับเปลี่ยนประโยคเพียงเล็กน้อยแต่ถามคำถามเดิม แชตบอตก็อาจจะตอบคำถามได้อย่างแม่นยำ
ใช้วลีบางวลีมากเกินไป เช่น การย้ำว่าเป็นโมเดลภาษาที่พัฒนาโดย OpenAI และการตอบคำถามที่เน้นโครงสร้างที่ดูทางการและมีขนาดยาว
หากผู้ใช้งานถามคำถามที่ไม่ชัดเจน ระบบจะสอบถามกลับเพื่อให้แน่ใจว่าต้องการถามคำถามนั้นๆ ใช่หรือไม่ แต่ในปัจจุบัน โมเดลจะคาดเดาจากคำถามของผู้ใช้งานได้เลย
นักพัฒนากำลังปรับปรุงให้ระบบคัดกรองคำถามที่ไม่เหมาะสมและเป็นอันตราย ซึ่ง ณ ตอนนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ 100% แต่ก็กำลังพัฒนาให้แชตบอตสมบูรณ์แบบมากที่สุด และเปิดรับความเห็นจากผู้ใช้งานเพื่อนำมาปรับปรุงเช่นเดียวกัน
AI กับการเก็บข้อมูลมหาศาลบนคลาวด์
จากปรากฏการณ์แชตบอตสุดอัจฉริยะที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกนี้ เราตั้งข้อสังเกตได้อย่างหนึ่ง คือ ในการประมวลผลจำเป็นต้องใช้ข้อมูลขนาดมหึมา ซึ่งต้องจัดเก็บไว้ในพื้นที่ที่สามารถรองรับและประมวลผลข้อมูลระดับนั้นได้ และสามารถปรับเพิ่ม-ลดขนาดได้ตามต้องการ สิ่งนั้นก็คือ ‘เทคโนโลยีคลาวด์’ เทคโนโลยีดังกล่าวคือคำตอบของการพัฒนาทางเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาให้ระบบนำ big data มาประมวลผลอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ปัญญาประดิษฐ์, machine learning, deep learning เป็นต้น เรื่อยไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีในองค์กรธุรกิจให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก ดังนั้น เทคโนโลยีคลาวด์จึงเหมาะสำหรับนักพัฒนา (developer) ที่สนใจด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ และนักธุรกิจที่ต้องการปรับตัวให้เท่าทันเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
NIPA Cloud ผู้ให้บริการ local cloud แนวหน้าในไทย พร้อมแล้วที่จะให้บริการเทคโนโลยีคลาวด์กับนักพัฒนาชาวไทยและธุรกิจไทยทุกภาคส่วน เรามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คนไทยและธุรกิจไทยมีคลาวด์มาตรฐานระดับโลกให้บริการ เพราะเราคือคลาวด์ไทยที่ออกแบบมาเพื่อคนไทย และเข้าใจคนไทยมากที่สุด
แหล่งอ้างอิง
http://edition.cnn.com/2022/12/05/tech/chatgpt-trnd/index.html
https://edition.cnn.com/2023/01/19/tech/chatgpt-future-davos