Company News

สรุปเนื้อหา ‘Adapt or Die: Disruption in IT Eras’

Published : December 22, 2023Time : 6 min read

รู้จักผู้บรรยาย

Randy Bias (ผู้บรรยาย)

แรนดี้ ไบแอส คือคนแรกที่ระบุถึงแรงผลักดันทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรมที่กำหนดความสำเร็จของไฮเปอร์สเกลคลาวด์โดยเป็นส่วนหนึ่งของการใช้จ่ายด้านไอทีทั่วโลก เขายังเป็นผู้สร้างสรรค์มีม ‘pets vs. cattle’ ที่โด่งดังในแวดวงอีกด้วย

ไบแอสได้รับการประกาศให้เป็น 1 ใน 10 ผู้บุกเบิก cloud computing อันดับแรกของโลก (InformationWeek) และผู้ทรงอิทธิพลทางดิจิทัลของโลก (Forbes) นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้ก่อตั้ง OpenStack และ Tungsten Fabric เป็นผู้สร้างระบบคลาวด์ขององค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใน Silicon Valley เป็นเวลากว่า 30 ปี เป็นหนึ่งในบุคคลกลุ่มแรก ๆ ที่พัฒนา cloud computing และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบคลาวด์มายาวนาน

เขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้พัฒนาทั้งหมดของ OpenStack และกลุ่มผู้พัฒนา DevOps ก่อนที่จะถูกเรียกว่า DevOps อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบล็อกเกอร์และผู้เชี่ยวชาญที่บัญญัติศัพท์ 'Cloud Native' ยิ่งไปกว่านั้น ไบแอสได้สร้าง public cloud แห่งแรกในเกาหลีใต้ให้กับ Korea Telecom สร้าง telco cloud แห่งแรกให้กับ AT&T ในปี 2011-2012 และสร้าง private cloud ขนาดใหญ่มากสำหรับ Walmart

ดร.อภิศักดิ์ จุลยา (โฮสต์)

ดร.อภิศักดิ์มีความฝันที่จะพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีตราบเท่าที่เขายังมีชีวิตอยู่ และค้นพบว่า cloud computing เป็นรากฐานสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในยุคใหม่นี้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ เขายังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมอธิปไตยข้อมูลอันแท้จริงสำหรับธุรกิจไทยผ่าน local public cloud

เขาเคยทำงานที่ NASA Glenn Research Center เป็นเวลา 8 ปี และภายหลังจากที่กลับมาประเทศไทย เขาก็ได้ก่อตั้งบริษัทของตัวเองในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และให้บริการคลาวด์ NIPA Cloud แก่ธุรกิจและองค์กรในไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

Yesterday: Mainframe & Enterprise Computing

แรนดี้ ไบแอส เริ่มการบรรยายด้วยการย้อนอดีตไปถึงยุคก่อนที่จะเริ่มใช้คอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อปทำงาน จนมาถึงราวทศวรรษ 1960 IBM ร่วมกับ American Airlines ได้นำเมนเฟรมตัวแรก ๆ มาใช้ในการดำเนินงาน และสร้างแอปพลิเคชันเมนเฟรมตัวแรกขึ้นมา ชื่อว่า Sabre โดยนำแอปมาใช้เป็นระบบสำรองที่นั่งอิเล็กทรอนิกส์ระบบแรกของโลก ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค computing อย่างแท้จริง กล่าวคือ ในปฐมบทของ computing นั้น เพียงแค่คุณมีความสามารถทางคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในเชิงธุรกิจเหนือคู่แข่งในตลาด ก็ถือว่าได้เปรียบและก้าวหน้าเป็นอย่างมากแล้ว ในช่วงปี 1960-1970 American Airlines จึงโดดเด่นและล้ำหน้ามากที่สุดในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเราเรียกยุคนี้ว่า Mainframe Computing

ต่อมา เมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุค 1980-1990 เมื่อมีผู้เล่นในท้องตลาดมากขึ้น computing จึงขยายออกจากเมนเฟรม กลายมาเป็นผู้เล่นระดับองค์กร ก่อให้เกิดเป็นยุคการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่เรียกว่า Enterprise Computing เรามีการเปลี่ยนแปลงมาสู่โมเดล client server มากขึ้น ทำให้เซิร์ฟเวอร์บางส่วนอยู่บน data center ทำให้ความสามารถในการประมวลผลบางส่วนนั้นย้ายมาอยู่บนเดสก์ท็อปหรือแล็ปท็อป ในขณะเดียวกัน ธุรกิจเกือบทุกประเภทที่มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นนั้นเริ่มใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจบางประเภทก็นำเทคโนโลยีมาใช้ในส่วนอื่นที่ไม่ใช่การสร้างความได้เปรียบเช่นกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ที่จะทำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในยุคถัดไป

Today: Cloud Computing

ก้าวมาสู่ยุคที่สามคือยุค Cloud Computing หรือยุคปัจจุบัน ที่ก็เป็นอีกหนึ่งยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงยุคก่อนหน้าไปอย่างสิ้นเชิง ในยุคนี้ ธุรกิจองค์กร รวมไปถึงปัจเจกบุคคล สามารถใช้เซิร์ฟเวอร์ได้ตามต้องการจากผู้ให้บริการคลาวด์ (cloud provider) เหมือนการใช้บริการสาธารณูปโภคและพลังงาน กล่าวคือ ผู้ให้บริการการประมวลผลบนคลาวด์เปิดให้เราได้ไปใช้บริการตามความต้องการ และจ่ายค่าบริการตามการใช้งานนั้น ๆ นั่นหมายความว่า หากนักพัฒนามีเซิร์ฟเวอร์ได้ 10,000 เครื่องแค่เพียง 1 ชั่วโมง และจ่ายด้วยราคาเพียง 10,000 บาท เท่านั้นก็จะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้เกินจินตนาการ เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมครั้งใหญ่ของโลกที่เราจะกล่าวถึงต่อไป

Enterprise Computing vs. Cloud Computing

ไบแอสเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง Enterprise Computing กับ Cloud Computing ที่แสดงการพัฒนาอย่างชัดเจน ดังนี้

  • ขับเคลื่อนด้วย GUI → ขับเคลื่อนด้วย API
  • สั่งการผ่านระบบ ticket-based → สั่งการผ่านระบบ self-service
  • ทำด้วยมือ → ระบบอัตโนมัติ
  • ต้องจองการใช้งาน → ใช้งานตามความต้องการ
  • ขยายขนาดแบบ scale-up → ขยายขนาดแบบ scale out
  • ฮาร์ดแวร์อัจฉริยะ → แอปพลิเคชันอัจฉริยะ
  • ซอฟต์แวร์ proprietary → ซอฟต์แวร์ open source
  • Traditional Dev → Agile DevOps

Cloud shifts uptime responsibility

นอกจากการพัฒนาจาก Enterprise Computing มาสู่ Cloud Computing ข้างต้นแล้ว คลาวด์ก็ได้เปลี่ยนระยะเวลาการทำงานของแอปพลิเคชันอีกด้วย โดยทั่วไปแล้ว ระยะเวลาการทำงานนั้นจะนำเสนอผ่านตัวเลขร้อยละ โดยมีจำนวนเลขเก้าเป็นตัวกำหนดอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งโมเดลแอปพลิเคชัน enterprise แบบคลาสสิกส่วนมากจะออกแบบมาเพื่อให้ทำงานแบบ ‘2-3 เก้า’ (99-99.9% ซึ่งจะมีระยะเวลา downtime 3.65 วันต่อปี และ 8.77 ชั่วโมงต่อปี ตามลำดับ) แล้วไปพัฒนาฮาร์ดแวร์เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ระบบจะล่มให้เป็น ‘4-5 เก้า’ (99.99-99.999% ซึ่งจะมีระยะเวลา downtime 52.60 นาทีต่อปี และ 5.26 นาทีต่อปี ตามลำดับ) และพัฒนาให้ทุกอย่างเป็น high availability (HA) ตั้งแต่ 2HA switch, 2HA router, 2HA load balancer และอื่น ๆ ผลที่เกิดขึ้นก็คือแอปพลิเคชันยังทำงานแบบ 2-3 เก้า

ไบแอสยกตัวอย่าง Gmail ที่แอปพลิเคชันได้รับการออกแบบมาให้ทำงานแบบ 4-5 เก้า ซึ่งเป็นโมเดลแอปพลิเคชันคลาวด์ที่ออกแบบมาเพื่อกำหนดเส้นทางไปบริเวณที่มีปัญหาหรือจุดผิดพลาด (failure) และพบว่าแอปพลิเคชันสามารถตรวจพบปัญหาส่วนล่างของ stack แล้วจัดการกับปัญหาและปัญหาโดยรอบ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องพัฒนาฮาร์ดแวร์ให้มากกว่า 2-3 เก้าให้เสียเวลา แต่ควรมาพัฒนาแอปพลิเคชันให้ไปถึง 4-5 เก้าจะดีกว่า ซึ่งแอปเหล่านี้ก็สามารถรันบนฮาร์ดแวร์ระดับดังกล่าวได้เช่นกัน นั่นหมายความว่าคุณสามารถซื้อฮาร์ดแวร์ที่ถูกกว่าและออกแบบเพิ่มเติมสำหรับโมเดลแบบ scale out เช่นนั้นได้

Pets vs. Cattle

ไบแอสเดินทางมาถึงความเปรียบที่เขาเป็นผู้คิดค้นและสร้างชื่อเสียงอันโด่งดังให้ตัวเองอย่าง ‘Pets vs. Cattle’ เขาเล่าว่าเขาใช้เวลากว่าหลายปีในการคิดว่าจะเปรียบเทียบรูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่ให้คนเข้าใจมากที่สุดยังไง และเขาก็พบความเปรียบที่เหมาะสมที่สุดในการอธิบายสองรูปแบบ ในรูปแบบเก่า ลองจินตนาการว่าเซิร์ฟเวอร์ของคุณเป็นสัตว์เลี้ยง เมื่อคุณเลี้ยงสัตว์ คุณจะทะนุถนอม เฝ้าดูแลบำรุงรักษา เมื่อป่วยก็ต้องดูแลให้กลับมาแข็งแรง ห้ามเมินเฉยหรือขาดความใส่ใจเลยแม้แต่น้อย เซิร์ฟเวอร์ก็เช่นกัน หากคุณอยู่ในองค์กรหนึ่งแล้วเกิดกรณีเซิร์ฟเวอร์อีเมลล่ม ทำให้ผู้บริหารไม่ได้รับอีเมลสำคัญ ทุกคนในองค์กรก็จะต้องหาวิธีซ่อมแซมเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ปกติ และเพื่อให้ผู้บริหารได้รับอีเมลฉบับนั้น

ในรูปแบบใหม่ ให้คุณจินตนาการว่าเซิร์ฟเวอร์ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงอีกต่อไป แต่เป็นฝูงวัว ซื้อมาในราคาที่ถูกกว่า หากตัวใดตัวหนึ่งป่วย คุณก็แค่ยิงมันทิ้งแล้วนำตัวใหม่มาแทนที่ เซิร์ฟเวอร์ก็เช่นกัน ไบแอสให้แนวคิดว่าเซิร์ฟเวอร์เป็นแบบใช้แล้วทิ้งที่เมื่อใดก็ตามที่ไม่พร้อมใช้งาน เราก็สามารถนำเครื่องใหม่มาแทนที่ได้ทันที เพื่อลดระยะเวลาการซ่อมบำรุง ลดค่าใช้จ่าย และสามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

Case study: Netflix

ไบแอสได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากองค์กรวิดีโอสตรีมมิ่งชื่อดังระดับโลก Netflix ที่หลายคนรู้จัก อาจจะเคยใช้ แต่ไม่รู้จุดเริ่มต้นของธุรกิจ Netflix เริ่มต้นด้วยการจัดส่งดีวีดี/ภาพยนตร์ไปยังบ้านของผู้คนโดยสมัครสมาชิกรายเดือน ขณะนั้นยังไม่มีการสตรีมวิดีโอ และหลังจากนั้นเพียงประมาณสี่หรือห้าปีดังที่ปรากฏในสไลด์ พวกเขาตระหนักว่าจะต้องก้าวไปสู่อนาคต และขัดขวางบริษัทที่มีอยู่เดิมอย่าง Blockbuster ในสหรัฐอเมริกา ที่อนุญาตให้เช่าดีวีดีได้ ด้วยแนวคิดนี้เองที่ทำให้ Netflix เริ่มธุรกิจวิดีโอสตรีมมิ่ง อย่างไรก็ตาม Netflix ก็พบปัญหาบางประการเมื่อเริ่มการสตรีมวิดีโอ

หนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้น คือ Netflix ใช้โมเดล Enterprise Computing แบบคลาสสิก พวกเขากำลังรันเซิร์ฟเวอร์ IBM, ฐานข้อมูล Oracle ทุกสิ่งเป็นรูปแบบ 222 อยู่ใน data center ดังนั้น จึงไม่ได้ออกแบบมาให้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถปรับขนาดขนาดได้มากเท่าที่ควร ในเวลาเดียวกัน Amazon Web Services EC2 ก็ถือกำเนิดขึ้นและเผยแพร่สู่สาธารณะในปี 2550-2551 จากนั้น Netflix ก็ประกาศว่าพวกเขาเริ่มย้ายจาก data center ไปยังระบบคลาวด์ แต่ที่สำคัญกว่านั้น พวกเขาประกาศว่า Netflix จะออกแบบสถาปัตยกรรมแอปพลิเคชันทั้งหมดใหม่สำหรับวิดีโอสตรีมมิ่งไปสู่ cloud native และออกแบบให้สามารถขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป

Netflix เริ่มสตรีมวิดีโอจากสหรัฐอเมริกาไปยังแคนาดา จากนั้น Amazon ก็เปิดกิจการในยุโรป ปัจจัยหลายประการเหล่านี้ทำให้ Netflix ผู้ปรับให้การจัดการข้อมูลเป็นรูปแบบอัตโนมัติ รวมถึงออกแบบบริการวิดีโอสตรีมมิ่งนั้น สามารถนำระบบอัตโนมัติทั้งหมดไปยังภูมิภาคยุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคใหม่ของ Amazon Web Services ได้ เพียงกดปุ่มเดียว จากนั้นไม่กี่ชั่วโมงหรือวันต่อมา Amazon ก็เข้ามามีบทบาทในยุโรปโดยที่ไม่มีใครต้องขึ้นเครื่องบิน ไม่มีใครต้องเซ็นสัญญาสรุปรายวัน ไม่มีใครต้องเจรจาเครือข่ายและข้อตกลงแบบเพียร์ริ่ง ไม่ต้องมีใครโผล่ในสถานที่ทำงานอีกแล้ว ตอนนี้ Netflix อยู่ในภูมิภาคใหม่ทั้งหมด มีฐานลูกค้าใหม่ทั้งหมด และเขาแค่กดปุ่มเดียวแล้วก็จะขยายไปยังอเมริกาใต้ เอเชีย และทั่วโลกได้เช่นเดียวกัน

Netflix ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วในแง่ของการเติบโตและการประเมินมูลค่าหุ้น ในสไลด์จะแสดงกรอบเวลาตั้งแต่ปี 2008-2016 เมื่อ Netflix ย้ายจาก data center ภายในองค์กรไปยัง Amazon Web Services เรียบร้อยแล้ว เข้าสู่ระบบ cloud native 100% ยึดหลักการ cloud computing สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้พวกเขาเติบโตต่อไปแบบติดจรวด

ไบแอสเสริมว่า โดยพื้นฐานแล้ว ระบบคลาวด์จะช่วยให้เราสร้างระบบที่มีความน่าเชื่อถือสูงนอกเหนือจากส่วนที่ไม่น่าเชื่อถือแอปพลิเคชันแบบ 5 เก้า (99.999%) ทำงานบนโครงสร้างพื้นฐานแบบ 2 เก้า (99%) เขาชี้ให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจไม่ได้คาดหวังที่จะลดต้นทุนด้านไอที พวกเขาต้องการขยายขนาดธุรกิจ ไม่ใช่ลดต้นทุน พวกเขาเล่นเพื่อชนะ ไม่ใช่เพื่อแพ้ ผู้แพ้จะพยายามลดต้นทุนอยู่เสมอ แต่ผู้ชนะจะพยายามหาวิธีที่จะเติบโตเร็วกว่าคู่แข่ง

Tomorrow: Autonomous Computing

มาถึงหัวข้อสุดท้ายที่ไบแอสบอกว่าเป็นหัวข้อที่สนุกที่สุด นั่นคือ การคาดการณ์อนาคตว่ายุคที่สี่ที่จะมาถึงจะเป็นยังไง ไบแอสได้คำนวณผ่านประสบการณ์และข้อมูล ณ ปัจจุบัน ยุคที่สี่ของการประมวลผลที่เขาคาดการณ์ไว้คือ Autonomous Computing หลายคนคงทราบดีว่าสายการบินเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่ใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (autopilot) สำหรับอุตสาหกรรมการบินมาเป็นเวลากว่า 20-30 ปีแล้ว แต่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ชัดยิ่งขึ้นเมื่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสหลัก และไบแอสคาดว่า AI จะฝังรากลึกยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในอุตสาหกรรมไอที

และสุดท้าย ไบแอสได้นำเสนอรายงาน State of AI Report จาก DataStax หนึ่งในองค์กรผู้นำด้านโซลูชันปัญญาประดิษฐ์ว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจสองประการ ประการแรก ผู้นำธุรกิจเข้าใจว่า AI จะสร้างความแตกต่างอย่างมากให้กับธุรกิจของพวกเขา และหวังว่าพวกเขาจะยอมรับมัน และประการที่สอง สิ่งสำคัญก็คือ มันไม่ได้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ทำงานจริง ๆ แต่มันเกี่ยวกับการช่วยเหลือมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์ที่ได้รับความช่วยเหลือจาก AI จึงได้รับการเสริมให้มีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีตถึงสองเท่าถึงสามสิบเท่า และพวกเขากำลังแข่งขันกับมนุษย์ที่ไม่ได้รับช่วยเหลือโดย AI

สุดท้ายนี้ ไบแอสสรุปว่า ธุรกิจดี ๆ ที่ต้องการแข่งขันและต้องการเอาชนะคู่แข่งนั้น คือธุรกิจที่จะปรับตัวและเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ พวกเขาจะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในลักษณะที่ช่วยให้ได้เปรียบทางการแข่งขัน และพวกเขาปฏิเสธไม่ได้ว่ามันขึ้นอยู่กับตัวเองจริง ๆ ว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือป่นปี้ และเพื่อยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ที่จะกำลังจะเกิดขึ้น

รับชมวิดีโอ Adapt or Die: Disruption in IT Eras

AUTHOR
Author
Sorawit Pakdeeasa
Content Writer

a passive(-aggressive) learner and a ramyeon lover.