Tech Knowledge

Object Storage โซลูชันการจัดเก็บข้อมูลระดับ Petabyte

Published : May 12, 2023Time : 5 min read

ในยุคดิจิทัล กิจกรรมทางอินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานและชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ธุรกิจหลายภาคส่วนก็เริ่มปรับตัวและเดินเข้าสู่โลกไซเบอร์นี้ ไม่ว่าจะเป็น การตลาด โลจิสติกส์ การศึกษา และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่งผลให้เกิดข้อมูลจำนวนมหาศาลที่จำเป็นต้องหาระบบจัดเก็บข้อมูลมารองรับ อีกทั้งยังต้องมีการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

Cloud storage คือโซลูชันการจัดเก็บข้อมูลที่เข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างตรงจุด โมเดลการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์นี้มีด้วยกันถึง 3 รูปแบบ ได้แก่ file storage, block storage และ object storage ซึ่งเราเคยเปรียบเทียบความแตกต่างกันไปแล้วในบทความ ระหว่าง File, Block และ Object Storage แบบไหนเหมาะกับแอปพลิเคชันของคุณมากที่สุด? โดยวันนี้ NIPA Cloud จะขอพาไปเจาะลึกในส่วนของ object storage โดยเฉพาะว่าการจัดการข้อมูลบนคลาวด์แบบนี้คืออะไร มีข้อดียังไง ตลอดจนการนำไปใช้งานจริงและ object storage ที่ NIPA Cloud Space ให้บริการ

ระหว่าง File, Block และ Object Storage แบบไหนเหมาะกับแอปพลิเคชันของคุณมากที่สุด?

Object Storage คืออะไร?

Object storage หรือ object-based storage คือระบบการจัดเก็บและจัดการข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง (unstructured data) ในปริมาณมหาศาล กล่าวคือ object storage มีความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลขนาดเพตะไบต์ (petabyte: PB) ซึ่งเทียบเท่ากับ 1,000 เทระไบต์ หรือ 1,000,000,000,000,000 ไบต์ โดยจัดเก็บในรูปแบบ object แยกเป็นชิ้น ๆ ในพื้นที่จัดเก็บระดับเดียว (flat) หรือที่เรียกว่า storage pool ซึ่งต่างจาก file storage ที่จัดเก็บอยู่ในโฟลเดอร์เป็นลำดับชั้น (hierarchical storage)

แล้ว object จำนวนมากขนาดนั้น หากต้องการเข้าถึงไฟล์ใดไฟล์หนึ่งต้องทำยังไง? การค้นหา object ที่ต้องการท่ามกลาง storage pool ขนาดมหึมาก็ไม่ต่างอะไรกับงมเข็มในมหาสมุทร object storage จึงมี ‘เมตาดาต้า’ (metadata) หรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ object นั้น ๆ เป็นตัวช่วยในการระบุตำแหน่งและจัดการกับ object ได้อย่างชาญฉลาด โดยที่ผู้ให้บริการหรือยูสเซอร์ไม่จำเป็นต้องนั่งหาทีละไฟล์อีกต่อไป

IBM ได้เปรียบเทียบการเก็บข้อมูลแบบ object storage ว่าเหมือนการเก็บหนังสือจำนวนหลายพันล้านเล่มไว้ในห้องสมุด โดยหนังสือแต่ละเล่มก็จะมีข้อมูลรายละเอียด ตั้งแต่ชื่อเรื่อง ผู้เขียน วันตีพิมพ์ สำนักพิมพ์ ประเภทหนังสือ ตลอดจนรหัสบนชั้นวางหนังสือที่สามารถระบุตำแหน่งได้อย่างชัดเจน เพียงพิมพ์ค้นหาก็จะสามารถพบหนังสือเล่มที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนี้ ข้อมูลในปัจจุบันที่กำลังเพิ่มปริมาณมากขึ้นมีลักษณะเป็นข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง เช่น อีเมล วิดีโอ โซเชียลมีเดีย เอกสาร ข้อมูลเซ็นเซอร์ที่เกิดจากอุปกรณ์ IoT และอื่น ๆ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเป็นตัวแทนของข้อมูลส่วนใหญ่ทั่วโลกในอนาคต มีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และต้องการการเข้าถึงตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม

ประโยชน์และข้อดีของ Object Storage

จัดเก็บและจัดการข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างจะกลายมาเป็นชุดข้อมูลปริมาณหลักในอนาคต ดังนั้น เครื่องมือหรือระบบที่จะนำมาใช้จัดการและจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ได้ดีที่สุดก็คือ object storage เพียงเก็บข้อมูลไว้เป็น object ใน storage pool หรือพื้นที่จัดเก็บระดับเดียว แล้วเรียกใช้งาน object ผ่านเมตาดาต้าได้อย่างง่ายดาย ไม่มีโฟลเดอร์ ไดเร็กทอรี หรือลำดับขั้นที่ซับซ้อนเพื่อระบุตำแหน่ง จึงช่วยลดความซับซ้อนของการจัดการข้อมูลได้เป็นอย่างดี

Object storage ไม่เพียงแต่เหมาะกับการจัดเก็บข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ข้อมูลที่เกี่ยวกับกฎ ข้อบังคับต่าง ๆ นั้นก็สามารถจัดเก็บได้เช่นกัน เนื่องจาก object storage จัดเก็บข้อมูลระยะยาวหรือถาวร (archiving) ซึ่งพัฒนาให้ล้ำขึ้นจากการจัดเก็บข้อมูลแบบดั้งเดิมอย่าง Network Attached Storage (NAS) ทำให้ช่วยลดโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า object storage จะเหมาะกับการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างที่ผลิตจากอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่ แต่การจัดเก็บข้อมูลประเภทนี้เหมาะกับข้อมูลที่ไม่มีการเข้าถึงบ่อยครั้ง เช่น ระบบการเงิน เนื่องจากมีค่า latency ที่สูงกว่า file และ block storage แต่อย่างไรก็ดี มีผู้ให้บริการปรับปรุงให้ object storage มีความเร็วที่สูงขึ้น จนทำให้ object storage กลายมาเป็นระบบจัดเก็บข้อมูลประสิทธิภาพสูงและเหมาะกับการจัดเก็บข้อมูลแทบทุกประเภทก็ว่าได้

ปรับขนาดได้ไม่จำกัด

การจัดเก็บข้อมูลไว้ใน data environment ที่ไม่มีลำดับชั้นหรือโครงสร้างนี้ ทำให้ object storage ปรับขนาดเพิ่ม-ลดได้ไม่จำกัดตามความต้องการ ตัวอย่างเช่น กรณีที่องค์กรหนึ่งเช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลกับผู้ให้บริการและต้องการจัดเก็บข้อมูลขนาด 1 เทระไบต์ ในเดือนถัดมามีข้อมูลใหม่เข้ามาถึง 50 เทระไบต์ องค์กรก็สามารถขอให้ผู้ให้บริการปรับเพิ่มขนาดพื้นที่จัดเก็บข้อมูลได้ หรือแม้กระทั่งในเดือนถัดมา ข้อมูลลดขนาดลงเหลือ 1 เทระไบต์ เช่นเดิม และองค์กรไม่ต้องการเสียค่าบริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพิ่ม ก็สามารถปรับลดขนาดพื้นที่จัดเก็บได้อย่างง่ายดาย ซึ่งประโยชน์ข้อนี้เรียกได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบของ object storage ที่ทำให้เหนือชั้นกว่าระบบการจัดเก็บไฟล์แบบอื่น ๆ นั่นเอง

มีความพร้อมใช้งานสูง (High Availability)

ผู้ให้บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลนั้นจะต้องจำลองข้อมูลของผู้ใช้งานออกมาอีกหนึ่งชุด เพื่อป้องกันกรณีที่ดิสก์ในคลัสเตอร์ใดคลัสเตอร์หนึ่งเสียหาย กล่าวคือ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น ระบบก็จะนำข้อมูลจำลองมาใช้ทันที ทำให้ระบบไม่เกิด downtime และข้อมูลไม่เกิดความเสียหาย ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากการจำลองข้อมูลระดับคลัสเตอร์แล้ว เพื่อเพิ่มความพร้อมใช้งานมากยิ่งขึ้น ผู้ให้บริการยังสามารถจำลองข้อมูลข้าม data center หรือแม้แต่ข้าม region ได้ เสริมความมั่นใจในการกู้คืนข้อมูลจากภัยพิบัติและความพร้อมใช้งานสู่ระดับสูงสุด

คุ้มค่ากับการลงทุน

Object storage มีการคิดเงินตามการใช้งานจริง (pay-as-you-go) ดังตัวอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าหากองค์กรต้องการปรับเพิ่ม-ลดขนาดพื้นที่จัดเก็บข้อมูลก็สามารถทำได้อย่างง่ายดาย และค่าบริการก็จะคิดตามจำนวนการใช้งานในแต่ละเดือน ทำให้หมดปัญหาการเสียค่าบริการให้กับพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ การคิดค่าบริการยังมีการคิดราคาแบบ tiered/volume pricing นั่นคือ ยิ่งมีปริมาณการใช้งานสูง ค่าบริการก็จะยิ่งถูกลง อีกทั้งองค์กรยังไม่จำเป็นต้องลงทุนกับเซิร์ฟเวอร์เมื่อใช้บริการกับผู้ให้บริการ ถือว่าตอบโจทย์เป็นอย่างมากกับธุรกิจที่มีข้อมูลปริมาณมากที่ต้องจัดการ แต่ต้นทุนไม่สูงและไม่ต้องการลงทุนจำนวนมากกับการจัดเก็บข้อมูล

การนำไปใช้งาน

Object storage นั้นเหมาะกับการใช้งานประเภทจัดเก็บ จัดการ และสำรองข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่เหมาะกับการจัดเก็บประเภทนี้จะต้องเป็นข้อมูลคงที่ (static) และไม่มีโครงสร้างในปริมาณมาก การนำไปใช้งานนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละองค์กร โดยตัวอย่างการนำไปใช้มี 2 กรณี ดังนี้

แอปพลิเคชันสำหรับ Cloud Native

ในยุคปัจจุบันที่มีการนำเทคโนโลยีคลาวด์มาใช้ในด้านต่าง ๆ มากขึ้น การพัฒนาแอปพลิเคชันก็เป็นหนึ่งในเทรนด์ที่ย้ายมาสู่คลาวด์ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจำเป็นต้องหาพื้นที่มารองรับข้อมูลในปริมาณมหาศาล object storage จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับแอปพลิเคชัน cloud native โดยนอกจากจะใช้ร่วมกับการพัฒนาแอปพลิเคชันแล้ว ยังใช้จัดเก็บข้อมูลจากเทคโนโลยี IoT และข้อมูลมือถือจากแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์สมาร์ทต่าง ๆ

การวิเคราะห์ Big Data และ AI

การเก็บข้อมูลเป็น storage pool ที่รวบรวมข้อมูลปริมาณมหาศาลไว้ในที่เดียวกัน พร้อมมีเมตาดาต้าระบุรายละเอียดและตำแหน่งของข้อมูลนั้น เอื้อต่อการดึงข้อมูลมาใช้งานอย่างการวิเคราะห์ข้อมูลในด้านต่าง ๆ เช่น การตลาด ข้อมูลลูกค้า หรือข้อมูล big data อื่น ๆ รวมถึงการนำมาใช้วิเคราะห์และพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) อีกด้วย

การจัดเก็บไฟล์ปริมาณมากของหน่วยงานรัฐที่ปรับขนาดได้ตามต้องการ

หน่วยงานราชการนั้นเริ่มมีการย้ายจากการเก็บข้อมูลผ่านเอกสารมาสู่ไฟล์ดิจิทัลมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่ต้องมีการรวบรวมเอกสารประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา โดยหน่วยงานดังกล่าวได้ใช้บริการ object storage จาก NIPA Cloud เพื่อปรับขนาดพื้นที่จัดเก็บข้อมูลตามความต้องการให้มีขนาดถึง 500 เทระไบต์ และลดขนาดลงเมื่อไม่ได้ใช้งาน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน Customer Story ของเรา

ก.ค.ศ. ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความปลอดภัย ด้วย NIPA Cloud Object Storage พื้นที่จัดเก็บที่ยืดหยุ่นได้กว่า 500TB

บริการ Object Storage จาก NIPA Cloud

NIPA Cloud ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีคลาวด์ชั้นนำของไทย พร้อมให้บริการ object storage ระบบจัดเก็บข้อมูลสุดล้ำแห่งยุคสมัย โดยจะเก็บข้อมูลเป็น object ไว้ใน bucket และสามารถเข้าถึงได้จากหลายผู้ใช้ ทำ horizontal scaling ได้ และเข้าถึงได้ทุกที่ด้วยเทคโนโลยี S3 API

Object Storage จาก NIPA Cloud

คุณสมบัติของ Object Storage (S3 API)

  • Scalability แบบไม่จำกัด
  • ปรับใช้กับแอปพลิเคชันได้หลากหลาย
  • คุ้มค่าจากการคิดราคาตามการใช้งานจริง (pay-as-you-go pricing)
  • รองรับเมตาดาต้า
  • มีฟีเจอร์ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ ได้แก่ bucket ACL/ policy, object versioning และ static website hosting

Object Storage Training

เทรนนิ่งครั้งใหม่ของ NIPA Cloud ที่จะเจาะลึกในด้าน object storage ที่จะพาทุกคนมาทำความรู้จักระบบการจัดเก็บข้อมูลสุดล้ำนี้ว่าคืออะไร มีวิธีการใช้งานยังไง ตลอดจนสาธิตการใช้งานจริงให้ทุกคนได้ดูแบบจัดเต็ม บรรยายโดย คุณฐิจิวัชร์ นันทนิตติ, Cloud Business Operation Manager และ คุณชยพล ลิมานนท์, Head of Software Development จาก NIPA Cloud ผู้เชี่ยวชาญด้านคลาวด์มากประสบการณ์ที่จะมาร่วมสนทนาในประเด็นนี้กับทุกคน

หัวข้อ

  • Introduction to Object Storage (S3)
  • How to implement S3 API for Developers
  • NEW! Object Storage Scenario in Web Hosting

รายละเอียดงาน

  • วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566
  • เวลา 10:30-12:00 น.
  • ไลฟ์ผ่าน Zoom Webinars
  • ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2566 เท่านั้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียน Object Storage Training
AUTHOR
Author
Sorawit Pakdeeasa
Content Writer

a passive(-aggressive) learner and a ramyeon lover.